ดีเอสไอ เรียก หนุ่ม กรรชัย – ท็อป -ไทด์ เข้าให้ปากคำเพิ่มเติม คดีแตงโม
จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ อนุมัติรื้อคดีการเสียชีวิตของ แตงโม ภัทรธิดา หรือ แตงโม นิดา นางเอกชื่อดัง ซึ่งพลัดตกเรือจมแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิตในวันที่ 24 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ขณะล่องเรือเที่ยวกับแก๊งเพื่อนสนิทและผู้จัดการส่วนตัว เพื่อทำการสืบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ากระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ แตงโม มีการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่ และมีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่


หลังนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยนายแพทย์ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตศัลยแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล และอาสาสมัคร ร่วมกันจำลองเหตุการณ์วันที่ แตงโม พลัดตกจากเรือเสียชีวิต ตามคำกล่าวอ้างของคนบนเรือที่บอกว่าขณะเกิดเหตุ แตงโม ไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือก่อนจะพลัดตกน้ำไป ซึ่งผลการทดสอบในทุกรูปแบบ ไม่สอดคล้องกับคำให้การของคนบนเรือก่อนหน้านี้ ทั้งยังพบพิรุธ GPS ของเรือที่ไม่สอดคล้องกับภาพวงจรปิด ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้



ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า DSI จะดำเนินการเรียกพยานเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติมรวมทั้งหมด 5 บุคคล 1 นิติบุคคล โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ.68 ที่ผ่านมา ได้เรียกนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เข้าให้ปากคำ ส่วนวันที่ 11 ก.พ.68 จะเรียกกรรมการผู้จัดการบริษัท ดีคืนดีวันจำกัด (นิติบุคคล) และ หนุ่ม กรรชัย เข้าพบ ซึ่งจะเป็นการเรียกพบแบบส่วนตัว จากนั้นนวันที่ 13 ก.พ.68 จะเรียก ท็อป บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ และ ไทด์ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ เข้าพบ และ วันที่ 18 ก.พ.68 จะเป็นคิว พ.ต.ต.ปภิณวิช รอดบางยาง.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

Categories: NEWS
ธนารักษ์ส่งเงินคืนคลัง 800 ล้านบาท เซ็งภารกิจ “กองทุนพัฒนาอสังหาฯ” แป้ก
วันที่ 22 มิถุนายน 2561 – 13:30 น.
อมรรัตน์ กล่ำพลบ
ธนารักษ์เตรียมส่งเงิน “กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” คืนคลังกว่า 800 ล้านบาท หลังทบทวนภารกิจนับแต่จัดตั้งปี’57 ยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนที่ ครม.อนุมัติไว้ 1 พันล้านบาท ยันไม่ถึงขั้นยุบทิ้งกองทุน
นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดี กรมธนารักษ์ ด้านที่ราชพัสดุ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกรมธนารักษ์อยู่ระหว่างทบทวนการใช้เงินของกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรม ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นทุนประเดิม จำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้สามารถนำเงินของกองทุนไปซื้อที่ดินเอกชน เพื่อทำให้ที่ราชพัสดุบางแปลงที่เดิมอาจจะไม่สวย อาทิ เป็นที่ตาบอดไม่มีทางเข้า หรือรูปร่างไม่สมบูรณ์ ทำให้ที่ราชพัสดุมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ตั้งกองทุนมา จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีการเข้าไปซื้อที่ดินเข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ที่ราชพัสดุแปลงใดเลย ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้สั่งการให้กรมธนารักษ์จัดทำแผนการใช้ประโยชน์กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นี้ เพื่อดูว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินแค่ไหน แต่คงไม่ถึงขั้นยุบเลิกกองทุนแต่อย่างใด เพียงแต่ลดระดับเงินกองทุนให้เหลือตามความเหมาะสมเท่านั้น
“ตอนนี้ทางกรมธนารักษ์มีการประชุมพิจารณากันแล้ว เนื่องจากดูแล้วกรมมีแผนจะซื้อที่ดินเอกชนอยู่ประมาณ 2-3 แปลง แต่ว่าแต่ละแปลงมูลค่าไม่ได้มาก ดังนั้นก็คงต้องส่งเงินคืนคลัง เป็นวงเงินกว่า 800 ล้านบาท แล้วคงเหลือไว้หมุนเวียนเป็นเงินกองทุนแค่สักประมาณกว่า 100 ล้านบาทก่อน ส่วนอนาคตหากจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเติม ก็ค่อยพิจารณากันอีกที” นางสาวอมรรัตน์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การจัดตั้งกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เริ่มขึ้นในสมัยนายนริศ ชัยสูตร เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ โดยมีเป้าหมายจะสร้างมูลค่าเพิ่มที่ราชพัสดุแปลงสำคัญ ๆ แล้วเปิดประมูลให้เอกชนเช่าไปพัฒนาต่อ อาทิ 1) ที่ราชพัสดุ แปลง ซอยพิพัฒน์ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เขตบางรัก ที่มีทางเข้ากว้างแค่ 5.5 เมตร ตามข้อบังคับของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ให้สร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร หากจะสร้างเกินต้องขยายทาง 2) ที่ราชพัสดุ แปลง บริเวณโรงหนังปริ๊นซ์ ใกล้กับโรงพยาบาลสารสิน ปัจจุบันมีตึกแถวเอกชนอยู่รอบที่ราชพัสดุ ไม่มีทางเข้าออก ซึ่งหากสามารถซื้อตึกแถวมาทำทางเข้าออกได้ ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้
3) ที่ราชพัสดุ แปลง ร.ส.พ. ตรงข้ามวัดไผ่ตัน ซึ่งทางเข้าอยู่ห่างจากคอสะพานไม่เกิน 50 เมตร ทำให้ติดข้อบังคับ กทม. ไม่สามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ และ 4) ที่ราชพัสดุ แปลง บริเวณองค์การสะพานปลา ย่านเจริญกรุง เนื้อที่กว่า 7 ไร่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกกว่า 10 แปลงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ทางกรมธนารักษ์ได้สำรวจ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป จึงยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งขึ้นมาเลย
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมธนารักษ์จะสามารถนำส่งรายได้เข้าแผ่นดินได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 6-7 พันล้านบาทเล็กน้อย โดยล่าสุด ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 2560-เม.ย. 2561) นำส่งรายได้แล้ว 5,509 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 424 ล้านบาท หรือ 8.3% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าเช่าที่ราชพัสดุสูงกว่าประมาณการ… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-178692